จานเบรกของรถจักรยานยนต์ เป็นชิ้นส่วนที่อยู่ติดกับล้อรถ จะทำงานควบคู่กับผ้าเบรกสร้างแรงเสียดทาน เพื่อทำให้รถหยุด แต่ถ้าเราสังเกตกันให้ดี จะเห็นได้ว่าจานเบรกจะมีอยู่ด้วยกันหลากหลายรูปแบบ เราเคยสงสัยกันบ้างหรือไม่ว่าจานเบรกมีอยู่ด้วยกันทั้งหมดกี่รูปแบบ และแต่ละรูปแบบมีข้อดีข้อเสียอย่างไร บทความนี้เรามีคำตอบมาให้
จานเบรกของรถจักรยานยนต์มีอยู่ด้วยกันทั้งหมด 4 รูปแบบ ดังนี้
จานเบรกแบบเรียบ (Smooth Brake Rotor) เป็นจานเบรกที่เราใช้กันเป็นส่วนใหญ่ เพราะเป็นจานที่ติดมาจากโรงงานผลิตรถแล้ว จานรูปแบบนี้สามารถทนต่อแรงเค้นได้ดีที่สุด ใช้งานทนที่สุดในกลุ่มจานเบรกทั้งหมด แต่มีข้อเสียใหญ่คือ การระบายความร้อนไม่ค่อยดี เมื่อเทียบกับแบบเซาะร่องและแบบเจาะรู สำหรับถ้าใครที่ใช้จานเบรกแบบเรียบ แนะนำว่าจำต้องใช้ผ้าเบรกและน้ำมันเบรกแบบคุณภาพสูง เพื่อจะได้ทนความร้อนได้ดี
จานเบรกแบบเจาะรู (Drill Brake Rotor) นี้เป็นจานเบรกที่ถูกพัฒนามาจากจานเบรกแบบเรียบที่มีข้อเสียประสิทธิภาพในการเบรกไม่ค่อยดี แต่เมื่อมีการเจาะรูที่จานเบรก ทำให้การระบายความร้อนดีขึ้น ระบบเบรกก็ดีขึ้น แต่มีข้อเสียจานเบรกรูปแบบนี้เกิดการแตกร้าวได้ง่าย
จานเบรกแบบเซาะร่อง (Slotted Brake Rotor) จานเบรกรูปแบบนี้ได้นิยมนำไปใช้ในวงการนักแข่ง เพราะช่วยลดการเกิด Thermal Cracking ในจานแบบเจาะรูได้อย่างดี โดยการเซาะร่องที่เนื้อจานเบรก ทำให้การระบายความร้อนรวดเร็วขึ้น และยังหมดปัญหาเรื่องฝุ่นเกาะจานเบรกอีกด้วย และที่สำคัญยังทำให้ประสิทธิภาพในการเบรกดีขึ้นอย่างมาก ข้อเสียเนื้อของผ้าเบรกหมดเร็ว
จานเบรกแบบเซาะร่องและเจาะรู (Drill and Slotted Brake Rotor) เมื่อทราบข้อดีของทั้งสองแบบข้างต้นแล้ว หลายคนคงคิดว่าจานเบรกแบบสุดท้ายนี้ น่าจะเป็นการนำเอาข้อดีทั้งสองแบบมารวมกันแน่นอน แต่กลับกันครับ จานเบรกแบบเซาะร่องและเจาะรูมีข้อดีเพียงข้อเดียวเท่านั้นคือขจัดฝุ่นได้ดี แต่ในด้านอื่นๆไม่ได้โดดเด่น อีกทั้งยังเกิด Thermal Cracking ได้ง่ายกว่าแบบอื่นอีกด้วย จานเบรกแบบนี้มักใช้กันในหมู่นักแต่งรถมากกว่านักซิ่ง เพราะทำให้รถดูสวยงามเท่านั้นเอง