ระบบไฟของรถมอเตอร์ไซค์นั้น ถือว่าเป็นอีกระบบที่สำคัญไม่น้อยไปกว่าระบบอื่นๆ แต่ผู้ขับขี่รถส่วนใหญ่แล้วมักจะไม่ค่อยให้ความสำคัญ วันนี้เราจะพาไปรู้จักกับระบบไฟรถมอเตอร์ไซค์ 3 จุดสำคัญว่ามีตรงไหนบ้าง แต่ละจุดมีการทำงาน และวิธีการดูแลรักษาอย่างไร เพื่อให้รถมอเตอร์ไซค์ของเรามีสภาพการใช้งานที่ยาวนานยิ่งขึ้น พร้อมที่จะใช้งานอยู่ตลอดเวลา
ระบบไฟของรถมอเตอร์ไซค์ที่มีความสำคัญจะมีอยู่ทั้งหมด 3 จุด ดังนี้
แบตเตอรี่
หน้าที่สำคัญของแบตเตอรี่ เป็นที่เก็บกระแสไฟเพื่อใช้ในการสตาร์ตเครื่องยนต์ เป็นแหล่งพลังงานของระบบไฟรถจักรยานยนต์ทั้งหมด เช่น ไฟสัญญาณ, ไฟหน้า, ไฟท้าย, ไฟเบรก, แตรสัญญาณ รวมถึงมีหน้าที่ส่งกระแสไฟเพื่อไปเลี้ยงระบบอิเล็กทรอนิกส์ต่างๆ เพื่อให้จักรยานยนต์สามารถทำงานได้อย่างปกติอีกด้วย
วิธีการดูแลแบตเตอรี่ของรถมอเตอร์ไซค์
ตรวจสอบจุดยึดของขั้วต่อสายแบตเตอรี่ทั้งขั้วบวกและขั้วลบ ว่าหลุดหลวม หรือมีคราลตะกรันเกิดขึ้นหรือไม่ ถ้ามีให้ทำความสะอาดด้วยการใช้น้ำอุ่นล้าง และใช้แปลงลวดขัดซ้ำอีกครั้ง
ตรวจดูระดับน้ำแบตเตอรี่ควรให้อยู่ในระดับสูงสุด (Max) ไม่ควรปล่อยให้น้ำอยู่ในตำแหน่งต่ำสุด (Min) ถ้าน้ำยามีระดับต่ำต้องรีบเติมน้ำกลั่นลงไปให้ได้ระดับที่เหมาะสม หากเราไม่เติมน้ำยาลงไปจนปล่อยให้น้ำเหือดแห้ง จะทำให้แบตเตอรี่เสื่อม และเสียไว
- ก่อนการขับขี่ทุกครั้ง ควรตรวจดูระบบไฟต่าง ๆ ของรถมอเตอร์ไซค์ว่าทำงานเป็นปกติหรือไม่ หากระบบไฟมีปัญหา นั้นเป็นสัญญาณเตือนว่าแบตเตอรี่รถมอเตอร์ไซค์ของเราเริ่มมีปัญหาแล้ว
หัวเทียน
ถ้ารถของเราสตาร์ตติดยาก หรือเวลาขับออกตัวแล้วไม่ค่อยมีแรง ปัญหาแรกน่าจะเกิดมาจากหัวเทียนของรถมอเตอร์ไซค์เสื่อมสภาพ ดังนั้นถ้าเราไม่อยากจะให้รถของเราเจอปัญหาแบบนี้ เราก็ควรทำการตรวจเช็คสภาพของหัวเทียนว่ามีปัญหาหรือไม่ เช่น บนหัวเทียนมีคราบเขม่าดำติดอยู่หรือเปล่า หากหัวเทียนที่มีคราบเขม่าเป็นสีดำแห้งเกาะที่ปลายฉนวนเขี้ยวไฟ และด้านในเปลือกเหล็ก แสดงว่าหัวเทียนของเรานั้นเสื่อมสภาพแล้ว
วิธีการแก้ไขหัวเทียนของรถมอเตอร์ไซค์
ให้เราทำการเปลี่ยนหัวเทียนใหม่ทันที เพราะหัวเทียนที่ดีมีคุณภาพ จะมีคราบสีเทา หรือสีน้ำตาล ที่ปลายฉนวนเขี้ยวไฟมีการสึกหรอน้อย
ระบบชาร์จไฟ
มีหน้าที่ในการผลิตกระแสไฟฟ้าเข้าประจุให้กับแบตเตอรี่ และจ่ายให้กับอุปกรณ์ไฟฟ้าในระบบไฟต่างๆ ที่ใช้กระแสไฟตรง เช่น ระบบไฟสัญญาณ ฯลฯ
วิธีการตรวจสอบระบบการชาร์จไฟ สามารถทำได้ด้วยตัวเอง โดยใช้โวลต์มิเตอร์ต่อคร่อมเข้ากับขั้วของแบตเตอรี่ ค่าไฟชาร์จที่ได้ (หน่วยเป็นโวลต์) ควรจะมากกว่าค่าไฟชาร์จจริงของแบตเตอรี่เล็กน้อย เช่น แบตเตอรี่ขนาด 6 โวลต์ เมื่อทำการวัดด้วยโวลต์มิเตอร์แล้วควรจะมีค่าอยู่ที่ประมาณ 7.6 โวลต์ ถ้าได้น้อยกว่าควรชาร์จแบตเตอรี่ใหม่ แต่ถ้าชาร์จใหม่แล้วได้ค่าไฟชาร์จมากเกินไปก็แสดงว่าเซลล์ใดเซลล์หนึ่งของแบตเตอรี่อาจเกิดการชำรุด
นี้คือ 3 จุดของระบบไฟของรถมอเตอร์ไซค์ ที่ผู้ขับขี่รถทุกคนควรรู้เอาไว้ ซึ่งการดูแลรักษาไม่ได้ยุ่งยากซับซ้อนเลย หากเราดูแลระบบไฟให้ดีแล้วนั้น จะช่วยทำให้รถมอเตอร์ไซค์ของเรา มีอายุการใช้งานที่ยาวนานยิ่งขึ้น
เครดิตภาพจาก : chapmoto.com, yuasa.fr